ก.ท.
ในการประชุมครั้งที่ ๙/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ ได้มีมติให้ถือปฏิบัติตามแนวทางของมติ
ก.อบต.ในคราวการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๔
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่ให้ตอบข้อหารือของจังหวัดจันทบุรี
กรณีปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
จะสามารถพิจารณากรณีโอน(ย้าย) พนักงานส่วนตำบลสายผู้ปฏิบัติได้หรือไม่
การใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราวที่กฎหมายกำหนดให้ใช้เท่าที่จำเป็น
เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป และไม่อาจกำหนดอำนาจที่แน่นอนได้ สำหรับขอบเขตของคำว่า เท่าที่จำเป็น เห็นว่าเมื่อไม่ปรากฏนิยามของคำว่าเท่าที่จำเป็น
ไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะจึงอาจพิจารณาเทียบเคียงความหมายของคำว่า จำเป็น
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
ที่อธิบายคุณลักษณะว่า “ต้องเป็นอย่างนั้น,ต้องทำ,ขาดไม่ได้”
ดังนั้นการพิจารณาการใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราว
เมื่อกฎหมายให้ใช้ได้เท่าที่จำเป็น ประกอบกับการใช้อำนาจอาจแยกได้สองลักษณะ
คืออำนาจผูกพันและอำนาจดุลยพินิจ
ผู้ครองอำนาจชั่วคราวจึงอาจพิจารณาใช้อำนาจจากองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งได้แก่ สำคัญ
จำเป็น ต้องทำ การใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราว
จึงเป็นกรณีที่ผู้ใช้อำนาจชั่วคราวจะต้องพิจารณาใช้อำนาจลักษณะอำนาจผูกพันที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
หรืออีกนัยหนึ่งคืองานประจำ
สำหรับงานลักษณะอย่างอื่นที่นอกเหนือจากงานประจำหรืองานที่เป็นอำนาจดุลยพินิจผู้ครองอำนาจชั่วคราวอาจตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบดุลยพินิจของตนก่อนใช้อำนาจ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราวเกิดความเป็นธรรม
โปร่งใสและตรวจสอบได้ ผู้ครองอำนาจชั่วคราวควรบันทึกเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจในการใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราวทุกครั้ง
และหากมีเหตุจำเป็นหรือมีลักษณะต้องห้ามดำเนินการตามกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง โดยเฉพาะงานด้านการบริหารงานบุคคล
ก็ให้เสนอผู้กำกับดูแลพิจารณาให้ความเห็นและเสนอ ก.อบต.ให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ก่อนพิจารราดำเนินการใดๆ
ผู้ครองอำนาจชั่วคราวอาจตั้งคำถามเพื่อใช้ในการตรวจสอบดุลยพินิจของตนก่อนใช้อำนาจ
ดังต่อไปนี้
๑.งานนั้นเป็นงานที่ต้องดำเนินการโดยทันทีทันใด
โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ อาจรอได้หรือไม่
หากเป็นกรณีที่สามารถหลีกเลี่ยงหรือรอได้ ผู้ใช้อำนาจชั่วคราวยังไม่สมควรใช้อำนาจนั้น
๒.ถ้าไม่ดำเนินการโดยทันทีทันใดจะเกิดอุปสรรคหรือผลเสียหายแก่บริการสาธารณะ
หรือกระทบต่อสิทธิข้าราชการส่วนท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด หากเป็นกรณีที่ไม่ปรากฏว่าจะเกิดปัญหาอุปสรรค
หรือเกิดผลเสียหายต่อบริการสาธารณะ
หรือผลกระทบซึ่งสิทธิของพนักงานส่วนท้องถิ่นจากการใช้อำนาจนั้น
ผู้ครองอำนาจชั่วคราวยังไม่สมควรใช้อำนาจนั้น
๓.มีเงื่อนเวลาตามกฎหมายหรือข้อผูกพันใดกำหนดไว้โดยเคร่งครัดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่
หากเป็นกรณีไม่มีเงื่อนเวลาที่ให้มีผลบังคับทางกฎหมาย หรือมีเงื่อนไขหรือข้อผูกพันอื่นใดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ผู้ครองอำนาจชั่วคราวยังไม่สมควรใช้อำนาจนั้น
๔.ไม่มีทางเลือกอื่นที่สามารถดำเนินการได้หรือไม่
หากเป็นกรณีมีทางเลือกอื่นที่ต้องปฏิบัติหลายทาง
ผู้ครองอำนาจชั่วคราวควรใช้ดุลยพินิจใช้อำนาจในกรณีที่จะเกิดผลเสียหายต่อสาธารณะน้อยที่สุด
๕.เป็นลักษณะงานประจำทั่วไป
ที่ต้องดำเนินการเช่นว่านั้นหรือไม่ หากเป็นกรณีดำเนินการในลักษณะงานประจำ
ผู้ครองอำนาจชั่วคราวสามารถใช้อำนาจได้
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราว เกิดความโปร่งใส
เป็นธรรมและตรวจสอบได้ ผู้ครองอำนาจชั่วคราวควรบันทึกเหตุผลประกอบการใช้ดุลยพินิจในการใช้อำนาจของผู้ครองอำนาจชั่วคราวไว้ทุกครั้ง
และหากมีกรณีเกิดปัญหาในการใช้อำนาจ ให้ผู้มีอำนาจชั่วคราวหารือ ก.อบต. เป็นกรณีๆไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น